อัพเดท
11 พฤษภาคม 2561
Apple ร่วมพัฒนานวัตกรรมอันยิ่งใหญ่สู่การถลุงแร่อะลูมิเนียมแบบไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน
Apple มีส่วนสำคัญในการพัฒนาของบริษัทร่วมทุนที่อาจพลิกโฉมกระบวนการผลิตทั่วทั้งโลก
อะลูมิเนียมเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมจำนวนมากของ Apple และผ่านมากว่า 130 ปี กระบวนการผลิตอะลูมิเนียมก็ยังเป็นแบบเดิม จนกระทั่งตอนนี้
วันนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการอะลูมิเนียม Alcoa Corporation และ Rio Tinto Aluminum ประกาศว่าจะลงทุนร่วมกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในเชิงพาณิชย์ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากการถลุงแร่แบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นขั้นตอนหลักของการผลิตอะลูมิเนียม เรียกได้ว่า นี่เป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ที่จะมาปฎิวัติวงการการผลิตโลหะที่มีการใช้งานกันมากที่สุดในโลก
Apple มีความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์โดยใช้นวัตกรรมอยู่แล้ว บริษัทจึงช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สำเร็จเร็วขึ้น และ Apple ได้ลงทุนร่วมกับบริษัทอะลูมิเนียมทั้งสองแห่ง รวมทั้งรัฐบาลของแคนาดาและควิเบก เพื่อการวิจัยและการพัฒนาในอนาคต รวมมูลค่า 144 ล้านดอลลาร์
"Apple มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีต่อโลกและยังช่วยปกป้องโลกไว้ให้กับคนรุ่นหลังด้วย" Tim Cook, CEO Apple กล่าว "เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหม่ที่มีความสำคัญเช่นนี้ และหวังว่าวันหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ของเราจะได้ใช้อะลูมิเนียมที่ผลิตโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง"
การแถลงการณ์วันนี้ที่ซาเกอเนย์ ควิเบก มีผู้มาร่วมงานได้แก่ Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีของแคนาดา Philippe Couillard มุขมนตรีของควิเบก และ Sarah Chandler กรรมการอาวุโสของ Apple เนื้อหาของแถลงการณ์เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนาที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี Apple เข้าไปมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ในปี 2015 โดยเริ่มจากการที่วิศวกรสามคนของ Apple ต้องการค้นหากรรมวิธีที่สะอาดและดียิ่งขึ้นในการผลิตอะลูมิเนียมให้ได้จำนวนมากๆ
หลังจากได้ประชุมกับบริษัทอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดสองราย ห้องปฏิบัติการและบริษัทสตาร์ทอัพอิสระจากทั่วโลก Brian Lynch, Jim Yurko และ Katie Sassaman วิศวกรของ Apple ก็ได้พบคำตอบที่พวกเขาตามหาที่ Alcoa Corporation
การผลิตอะลูมิเนียมจำนวนมากใช้กรรมวิธีดั้งเดิมที่ค้นพบโดย Charles Hall ผู้ก่อตั้ง Alcoa มาตั้งแต่ปี 1886 ขั้นตอนการผลิตแบบเดิมนี้จะใช้การปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าสู่ออกไซด์ของอะลูมินัม ซึ่งเป็นการกำจัดก๊าซออกซิเจนออกไป การทดลองในช่วงแรกๆ ของ Hall และโรงถลุงแร่ขนาดใหญ่ในปัจจุบันต่างก็ใช้วัสดุคาร์บอนที่ได้จากการหลอมในกระบวนการนี้ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น
Lynch, Yurko และ Sassaman พบว่า Alcoa ได้คิดค้นกระบวนการผลิตแบบใหม่ขึ้นมาโดยใช้วัสดุที่เป็นตัวนำไฟฟ้าขั้นสูงแทนคาร์บอน ดังนั้น แทนที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา วัสดุนั้นจะปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาแทน การค้นพบนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล และ Alcoa จำเป็นต้องมีพันธมิตรมากระตุ้นให้ตระหนักถึงเรื่องนี้
David Tom, Maziar Brumand และ Sean Camacho ฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Apple จึงเชิญบริษัท Rio Tinto เข้ามาพูดคุย Rio Tinto มีภาพลักษณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลกและมีประสบการณ์ยาวนานหลายปีในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการถลุงแร่ การขายและพาณิชยกรรมระดับนานาชาติ
บริษัทอะลูมิเนียมทั้งสองแห่งได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ Elysis ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อเพื่อการผลิตและการพาณิชย์ในระดับที่ใหญ่ขึ้น โดยมีแผนที่จะเริ่มเสนอขายเทคโนโลยีในปี 2024 และ Apple จะยังคงให้การสนับสนุนในเชิงเทคนิคต่อไป เทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรนี้มีการใช้งานอยู่แล้วที่ Alcoa Technical Center นอกพิตส์เบิร์ก และจะมีการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 30 ล้านเหรียญ
หากมีการพัฒนาและปรับใช้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว กรรมวิธีใหม่นี้จะทำให้กระบวนการถลุงแร่ทั่วโลกปลอดก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตและอะลูมิเนียมที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างแคนาดาและสหรัฐอเมริกาแข็งแกร่งมากกว่าเดิม
ข่าวนี้ต่อเนื่องมาจากเมื่อเดือนที่แล้วที่ Apple ได้ประกาศว่าสถานประกอบการทั้งหมดของบริษัทใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และซัพพลายเออร์อีก 23 รายก็กำลังทำเช่นเดียวกัน และด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์ทั้งหมดโดยใช้เฉพาะวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุหมุนเวียน บริษัทยังได้เปิดตัว Daisy หุ่นยนต์ที่สามารถคัดแยกชิ้นส่วน iPhone ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำชิ้นส่วนที่มีค่ากลับมารีไซเคิลใหม่ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ
รูปภาพการผลิตอะลูมิเนียม