ฟีเจอร์
13 กุมภาพันธ์ 2562
ผู้สร้างสรรค์ผลงานในแคมเปญ Behind the Mac พูดถึงไอคอนด้านวรรณกรรมของเขา
Barry Jenkins กล่าวถึง James Baldwin การทำหนังคนผิวสี และการถ่ายทำภาพยนตร์ในยุค iPhone
ผู้กำกับรางวัลออสการ์ Barry Jenkins บอกว่าเขา “บังเอิญมีโอกาสมาทำหนัง” หลังจากเข้าเรียนที่ Florida State University มาหลายปี ก่อนจะรู้จักกับหลักสูตรการสร้างภาพยนตร์ที่นั่น “ผมเข้าเรียนด้านภาพยนตร์ในช่วงจุดเปลี่ยนระหว่างโรงภาพยนตร์สมัยเก่ากับสมัยใหม่พอดี” Jenkins บอก “เราได้เรียนตัดต่อหนังบนโต๊ะตัดต่อของจริง… คุณจะต้องตัดม้วนฟิล์มจริงๆ แล้วเอาเทปกาวมาติดเข้าด้วยกัน เราทำแบบนั้นกันหนึ่งปีเต็มแล้วจู่ๆ ก็ต้องเปลี่ยนมาตัดต่อแบบนอนลิเนียร์ ซึ่งมันปุบปับมาก
“แต่ผมก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะ” เขาเล่าต่อ “ในการตัดต่อหนังนั้น คุณจะต้องทำเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ”
ในแคมเปญ Behind the Mac เมื่อปีที่แล้วซึ่งพูดถึงผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ใช้ Mac ในการทำงาน เราเห็น Jenkins ถือ MacBook Pro ขณะยืนกางร่มท่ามกลางสายฝน ผู้กำกับ กำลังส่งออกไฟล์ตัดต่อขั้นสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่อง “Moonlight” ที่คว้ารางวัลออสการ์ปี 2017 ไปครองได้สำเร็จ
ด้วยความที่เคยฝึกทั้งการทำหนังสมัยเก่าและสมัยใหม่ Jenkins ได้หลอมรวมทักษะงานฝีมือเข้ากับอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างกล้อง ARRI Alexa, MacBook Pro หรือแม้แต่ iPad Pro เครื่องใหม่ของเขา “กล้อง Arri และอุปกรณ์ของ Apple เป็นสองส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผมกลายมาเป็นนักสร้างหนังอย่างทุกวันนี้” Jenkins กล่าว
ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง “If Beale Street Could Talk” ของ James Baldwin เรื่องราวที่ย้ำเตือนถึงถึงชีวิตของคนผิวสีในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1970 โดยเน้นให้เห็นความยากลำบากของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ต้องเผชิญโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เรื่องราวได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1974 เป็นเวลา 6 ปีหลังจาก Martin Luther King Jr.ถูกลอบสังหารในปี 1968 และเป็นเวลา 10 ปีหลังจากผ่านร่างกฎหมายสิทธิพลเมืองปี 1964
งานเขียนของ Baldwin แสดงการวิเคราะห์ความเป็นไปของโลกรอบๆ ตัวอย่างวิพากษ์วิจารณ์และไม่สนใจใคร เขาสร้างสมดุลระหว่างความงามและความโหดร้ายของสังคมอเมริกาได้อย่างละเมียดละไม
ในการดัดแปลงสู่ภาพยนตร์ของ Jenkins ความสมดุลนี้ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางช่วงเวลาระหว่าง Tish (รับบทโดย KiKi Layne) และ Fonny (Stephan James) ในฉากต่างๆ ตั้งแต่ย่าน Harlem ถึง West Village ไปจนถึงกระจกกันกระสุนของสถานกักกัน Manhattan Detention Complex หรือที่เรียกกันว่า The Tombs
“งานของผมในการสร้างหนังเรื่องนี้ทั้งในแง่ของศิลปะและสุนทรียศาสตร์ คือการพยายามถ่ายทอดเสียงในหัวเวลาอ่านออกมาเป็นภาพและเสียงให้ใกล้เคียงกับถ้อยคำของ James Baldwin มากที่สุด”
ในการถ่ายทอดถ้อยคำของ Baldwin ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว Tish จะเป็นผู้บรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำเธอและ Fonny มาเจอกัน ทั้งการตกหลุมรัก การตั้งครรภ์ และการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของ Fonny ซึ่งโดนจับทั้งที่ไม่มีความผิด
“ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยความทรงจำและฝันร้าย เราจะมาดูกันว่าวัยรุ่นอายุ 19 ปีอย่าง Tish เธอมีมุมมองต่อย่าน Harlem อย่างไร” Jenkins พูดต่อ “เธออยากจดจำมันแบบไหน และถ้าเราถ่ายทอดมันออกมาได้ดี โลกทั้งใบก็จะเปิดรับเรา”
“If Beale Street Could Talk” เป็นภาพยนตร์ดัดแปลงภาษาอังกฤษเรื่องแรกจากผลงานของ Baldwin ที่นำเสนอปัญหาความท้าทายในแบบของตัวเอง
“วรรณกรรมเป็นสื่อที่สร้างความรู้สึกจากภายใน ทุกอย่างเกิดขึ้นจากเสียงในหัวของเรา” Jenkins กล่าว “ส่วนภาพยนตร์นั้น เป็นเรื่องของการแสดงออกมาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง มีการใช้ทั้งภาพและเสียงมาช่วย คุณจึงอาจไม่ได้เข้าไปอยู่ในความคิดของตัวละคร ขณะที่พลังการเขียนของ James Baldwin นั้นอยู่ที่การสร้างเสียงในหัวล้วนๆ “ดังนั้น งานของผมในการสร้างหนังเรื่องนี้ทั้งในแง่ของศิลปะและสุนทรียศาสตร์ คือการพยายามถ่ายทอดเสียงในหัวเวลาอ่านออกมาเป็นภาพและเสียงให้ใกล้เคียงกับถ้อยคำของ James Baldwin มากที่สุด”
การถ่ายทำ “Beale Street” ด้วยกล้อง ARRI Alexa 65 ช่วยให้ผู้ชมได้เห็นชีวิตคนผิวสีแบบใกล้ชิดและเป็นกันเองมากขึ้น Jenkins รู้สึกยินดีที่สามารถถ่ายทอดชีวิตครอบครัวและความรักของคนผิวสีจากผลงานของนักเขียนในดวงใจออกมาได้อย่างใกล้ชิดในรูปแบบภาพยนตร์จอใหญ่
“ประวัติศาสตร์ [ภาพยนตร์] ผูกติดอยู่กับฟิล์ม 35 มม.” Jenkins อธิบาย “ตอนนี้กล้องใช้ชิพคอมพิวเตอร์ที่ตั้งโปรแกรมได้ คุณสามารถเขียนอัลกอริทึมเพื่อควบคุมการทำงานและการวัดแสง ที่ผ่านมา การสร้างภาพยนตร์มีข้อจำกัดเนื่องจากวิธีการผลิตม้วนฟิล์มบางอย่างและช่วงไดนามิกที่ใช้ได้ สมัยนี้ เมื่อไหร่ที่อยากสร้างภาพยนตร์ เราก็สามารถตั้งโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ได้เองทั้งหมด ตอนนี้เรามีกล้องที่เน้นสีได้เข้มกว่าเดิม ผมหมายถึงโทนสีผิวที่เข้มขึ้น มันอิสระมากๆ”
นอกจากกล้องสมัยใหม่แล้ว นักสร้างหนังยังคงต้องใช้เวทมนตร์บางอย่าง เข้าสู่โปรแกรมตัดต่อ
Joi McMillon ทำงานกับ Jenkins มาเป็นเวลานาน หนึ่งในสองนักตัดต่อที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เรื่อง “Moonlight” เธอชอบใช้ Avid บน Mac Pro “ทุกลมหายใจ” McMillon ทำงานกับ Jenkins และช่างภาพ James Laxton เพื่อทำให้ภาพยนตร์มีชีวิต
มีฉากหนึ่งที่ Fonny และ Daniel (Brian Tyree Henry) ใช้เวลาหลายชั่วโมงในอพาร์ทเมนต์ของ Fonny พูดคุยกัน แล้วเปลี่ยนจากการถามไถ่ธรรมดากลายเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้ Daniel
“มันเหมือนเป็นฉากซ้อนฉาก พวกเขามีการเปลี่ยนแสงและมุมกล้องเพื่อให้ไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อกับฉากที่ยาวขนาดนั้น” McMillon อธิบาย “เกิดเป็นรายละเอียดใหม่ๆ ให้กับแต่ละส่วนของฉากดังกล่าว”
Jenkins อยากให้ผู้ชมรู้สึกถึงพลังที่ส่งผ่านถึงกันระหว่าง Fonny และ Daniel มีการเคลื่อนกล้องอย่างช้าๆ ระหว่างตัวละครทั้งสอง ค่อยๆ พัฒนาความรู้สึกลึกขึ้นเข้าไปในจิตใจของ Daniel และให้เห็นปฏิกิริยาของ Fonny
“มีความอบอุ่นอยู่ในโทนสีผิวของ Fonny และ Daniel แต่เรื่องที่พวกเขาคุยกันมันช่างฟังดูมืดหม่นและน่ากลัว ซึ่งฉันก็ชอบความขัดแย้งกันอย่างลงตัวแบบนั้นนะ” McMillon กล่าว “เราใช้การถ่ายทำที่ให้คุณรู้สึกเหมือนไปนั่งร่วมโต๊ะกับพวกเขาเลย”
การสร้างความรู้สึกใกล้ชิดแบบนั้นได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของ Jenkins ไปแล้ว เหมือนฉากในร้านอาหารของเรื่อง “Moonlight” หรือแม้แต่ฉากที่ตัวละครว่ายน้ำในทะเล
วันนี้ Jenkins, McMillon และทีมงาน “Beale Street” ก็ได้เดินสายรับรางวัลอีกครั้ง ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 3 สาขา ได้แก่ นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Regina King), ดนตรีประกอบดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Nicholas Britell) และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Jenkins)
“แม้แต่นักสร้างหนังรุ่นเก๋าที่เปิดรับเครื่องมือใหม่ๆ… ก็อาจต้องล้มลุกคลุกคลานในยุคดิจิทัล”
เรื่องต่อไป: ซีรีส์ Amazon ที่สร้างจากเรื่อง “The Underground Railroad” ของ Coulson Whitehead Jenkins กล่าวติดตลกว่านี่คงจะครบเป้าหมายด้านการสร้างหนังที่เขาตั้งไว้แล้ว: “ผมอยากสร้างหนังเกี่ยวกับบ้านเกิด นั่นก็คือเรื่อง ‘Moonlight’ ผมอยากเขียนบทจากนวนิยายของนักเขียนในดวงใจ นั่นก็คือเรื่อง ‘Beale Street’ และสุดท้ายผมอยากสร้างหนังสะท้อนสภาพชีวิตของระบบทาสในอเมริกา ซึ่งนั่นก็คือเรื่อง ‘The Underground Railroad’”
ขณะที่ Jenkins ทำเป้าหมายในลิสต์ครบแล้ว เขาก็รู้ดีว่านักสร้างหนังรุ่นใหม่ๆ จะตามทันเขาในไม่ช้า “แม้แต่นักสร้างหนังรุ่นเก๋าที่เปิดรับเครื่องมือใหม่ๆ… ก็อาจต้องล้มลุกคลุกคลานในยุคดิจิทัล” Jenkins กล่าว “Steven Soderbergh ถ่ายทำภาพยนตร์โดยแทบจะใช้แค่ iPhone เพียงอย่างเดียวในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้” (ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ Soderbergh อย่าง “High Flying Bird” ถ่ายทำด้วย iPhone 8 ตลอดทั้งเรื่องและฉายเป็นที่แรกที่ Netflix เมื่อเดือนที่แล้ว)
“ตอนนี้คุณสร้างสรรค์ผลงานอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะใช้แค่โทรศัพท์หรือกล้อง DSLR” เขากล่าว “โลกทั้งใบกลายเป็นสถานที่ถ่ายทำของนักสร้างหนังยุคใหม่ไปแล้ว”