ฟีเจอร์
22 เมษายน 2562
อนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อทุกชีวิตบนโลก
Apple ร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ และพันธมิตรชุมชนชาวโคลอมเบียในการปกป้องต้นไม้ชายฝั่งที่สามารถดักจับคาร์บอน
รากของต้นโกงกางเปรียบเสมือนเส้นเลือด เพราะรากเหล่านี้ทั้งโผล่ขึ้นและทอดตัวอยู่ในน้ำเค็มของ Cispatá Bay ใน Córdoba ประเทศโคลอมเบีย โดยแผ่ปกคลุมไปทุกทิศทางตามแนวชายฝั่งของทะเลแคริบเบียน ช่องทางหลายๆ ช่องรวมกันเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำซินู ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวที่สามารถเข้าและออกจากป่าชายเลนได้และเป็นสถานที่ทำงานของชาวประมงและคนตัดไม้
Luis Roberto Canchila Avila ประธานของ Asoamanglebal ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับป่าชายเลนแห่งแรกของ San Bernardo del Viento ใน Córdoba กล่าวว่า "ตอนนี้คนของเรากำลังพยายามเปิดเส้นทางให้น้ำไหลผ่านไปได้" "เพราะตอนนี้เป็นฤดูร้อน จึงมีบางพื้นที่ที่น้ำไหลผ่านไม่เหมือนกัน ทำให้ปลาตายจากการขาดออกซิเจน" ความสมดุลเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากมีน้ำจากแม่น้ำมากเกินไปหรือมีน้ำเค็มน้อยเกินไป ป่าชายเลนทั้งหมดก็จะตาย
ป่าชายเลนมีความสำคัญต่อชุมชนที่อยู่ตามแนวชายฝั่งของโคลอมเบียมาเป็นเวลาช้านาน เพราะป่านี้คอยปกป้องผู้คนจากพายุและเป็นแหล่งผลิตอาหารและไม้ให้กับครอบครัว อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อโลกใบนี้อีกด้วย เนื่องจากคอยดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้ในดินที่อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานหลายศตวรรษ งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนต่อเอเคอร์ได้มากกว่าป่าบนบกถึง 10 เท่า
แต่การทำไร่ ตกปลา และตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย รวมถึงภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่างก็เป็นอันตรายต่อการคงอยู่ของป่าชายเลน Canchila Avila กล่าวว่า "มีพวกผิดกฎหมายหลายกลุ่มกำลังหาประโยชน์จากป่าชายเลน" "พวกนั้นไม่รับรู้และไม่สนใจหรอกว่าเราพยายามอนุรักษ์ป่านี้ไว้แค่ไหน" องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติชี้ให้เห็นว่าเมื่อป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งอื่นๆ เสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย ก็จะปล่อยคาร์บอนที่กักเก็บไว้นานหลายศตวรรษออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก พวกเขาคาดว่าระบบนิเวศชายฝั่งที่เสื่อมสภาพจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมาถึง 1 พันล้านเมตริกตันต่อปี1 ซึ่งเท่ากับปริมาณคาร์บอนทั้งหมดที่รถยนต์ รถบัส เครื่องบิน และเรือในอเมริกาปล่อยออกมารวมกันในปี 2017
ในเช้าวันหนึ่งที่อากาศร้อนชื้นของเดือนเมษายน Cispatá Bay ดูเงียบสงบ เว้นแต่มีชาวประมงท้องถิ่นสองสามคนที่กำลังหว่านแหทอมือลงในน้ำทะเลที่สูงระดับเอว ที่นี่ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ และสถาบันวิจัย Invemar กำลังเก็บตัวอย่างดินของป่าชายเลนเพื่อนำไปวิเคราะห์หาคาร์บอนที่กักเก็บไว้ในตะกอนดินใต้น้ำ หรือที่เรียกกันว่า "บลูคาร์บอน" องค์กรทั้งสามแห่งร่วมกับ Omacha Foundation กำลังออกแบบวิธีการจัดการกับคาร์บอนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในภูมิภาค โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลท้องถิ่น (CVS) และชุมชนท้องถิ่น
สำหรับโครงการ Give Back เนื่องในวันคุ้มครองโลกปี 2018 ของ Apple นั้น Apple ได้ทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติเพื่อปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลน 27,000 เอเคอร์ใน Cispatá Bay ซึ่งคาดว่ากักเก็บ CO2 ไว้ถึง 1 ล้านเมตริกตันตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ในงานประชุมเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับสภาพอากาศทั่วโลกที่จัดขึ้นในเดือนกันยายนที่แล้วในแคลิฟอร์เนีย Lisa Jackson รองประธานฝ่ายโครงการด้านสิ่งแวดล้อม นโยบาย และสังคมของ Apple ได้เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าชายเลน เธอพูดว่า "ป่าเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลเพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ" "เราสูญเสียป่าชายเลนกว่าครึ่งทั่วโลกตั้งแต่ช่วงปี 1940 เป็นต้นมา ถึงเวลาแล้วที่เราควรเริ่มอนุรักษ์และปกป้องป่าเหล่านี้"
โครงการขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติเป็นโครงการแรกในโลกที่วัดปริมาณบลูคาร์บอนเครดิตทั้งในต้นไม้และดินอย่างเต็มรูปแบบ และจะเป็นโครงการตัวอย่างในการวัดค่าการกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศป่าชายเลนทั่วโลก และการจำกัดการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณนี้
María Claudia Díazgranados Cadelo นักชีววิทยาทางทะเลและผู้อำนวยการโปรแกรมสิ่งจูงใจของชุมชนและทะเล (Marine and Community Incentive Programs) ขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติกล่าวไว้ว่า "เรากำลังเริ่มทดลองใช้โครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแบบใหม่นี้" "เราต้องพัฒนาวิธีการวัดปริมาณคาร์บอนในองค์ประกอบดินจากป่าชายเลนให้ดียิ่งขึ้น วิธีการอื่นๆ ใช้เพียงมวลชีวภาพเหนือพื้นดินโดยไม่คำนึงถึงดินเลย ซึ่งเป็นที่กักเก็บคาร์บอนที่สำคัญที่สุดของป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่ง"
เลยอ่าวออกไป มีหลายร้อยครอบครัวอาศัยและหาเลี้ยงชีพกับป่าชายเลน mangleros ตามที่เราเรียกกัน เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายของสมาคมอนุรักษ์ป่าชายเลนท้องถิ่นที่ก่อตั้งเพื่ออนุรักษ์และปกป้องป่าชายเลนรวมถึงชุมชนต่างๆ ที่หาอาหารและรายได้จากป่าชายเลน
ในเมือง San Antero ที่อยู่ใกล้เคียง ชาวพื้นเมือง Cispatá ชื่อ Ignacia De La Rosa Pérez คอยจัดการความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ ผ่านสมาคมป่าชายเลนอิสระ (Independent Mangrove Association) De La Rosa Pérez บอกว่า "ฉันเกิดในป่าชายเลนจริงๆ" "ตอนฉันเป็นเด็ก ฉันเริ่มพาคนอื่นๆ เข้าไปในป่าและสำรวจสิ่งมีชึวิตต่างๆ ฉันไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นผู้นำ แต่ทุกคนก็ตามฉัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนี้"
ตั้งแต่ปี 1976 De La Rosa Pérez ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับป่าชายเลน รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์ที่อาศัยอยู่ที่นั่น สภาพของป่าชายเลน และช่องทางต่างๆ ที่ทอดผ่านป่า ตู้หนังสือสองตู้ในที่ทำงานกึ่งที่พักของเธอเต็มไปด้วยแฟ้มที่เก็บแผนที่และการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับลักษณะของต้นไม้ชายฝั่งเหล่านี้ เธอมีข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ตั้งแต่ก่อนที่ Cispatá Bay จะกลายเป็นระบบย่อยของพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area Subsystem) ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในแฟ้มสองสามเล่มที่บ้านของ De La Rosa Pérez ด้วยเช่นกัน
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของปากแม่น้ำ” De La Rosa Pérez กล่าว “เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทางนิเวศวิทยาหลายประการ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ต้นโกงกางต้นเดียวที่อยู่มาตั้งแต่สามสี่ร้อยปีก่อนตอนนี้เริ่มโตบนบก เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนก็เริ่มเลี้ยงตัวเองจากป่าชายเลน”
เท่าที่ De La Rosa Pérez จำได้ ชุมชนนี้จะขายทุกสิ่งที่หาได้จากป่าไม่ว่าจะเป็น ไม้ เปลือกไม้ ปลา และปู De La Rosa Pérez จึงรู้สึกโกรธมากเมื่อนักการเมืองท้องถิ่นพยายามตราหน้าคนที่ทำงานในป่าชายเลนว่าเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าคนงานในป่าชายเลนจะถูกกล่าวหาว่าทำให้ต้นไม้ตายเพราะตกปลาและตัดไม้ แต่ความจริงคือต้นไม้ในป่านั้นตายเอง
“เราเริ่มสื่อสารกันด้วยวิธีใหม่ที่ใช้ศัพท์เฉพาะทางของผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่เทคนิค นักวิทยาศาสตร์ และชุมชน”
“ตอนฉัน 3 ขวบก็แข่งกับคนอื่นๆ ว่าใครจะเจอต้นไม้ต้นใหญ่ที่สุดที่ถูกฝังไว้ก่อน” De La Rosa Pérez กล่าว “ต้นโกงกางตายลงเพราะว่าน้ำเค็มหรือไม่มีแควน้ำ ฉันหาหนทางแก้ปัญหานั้นได้ในปี 92 โดยไปที่เหมืองเกลือกับคนงานในป่าชายเลน พวกเขาขุดดินด้วยมือและพลั่ว ดึงต้นไม้ขึ้นมาเพื่อยืนยันว่าไม่ได้ตัดจริงๆ"
การพิสูจน์ครั้งนั้นได้วางรากฐานความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและ CVS ในการพัฒนาวิธีการนำต้นโกงกางมาใช้อย่างยั่งยืน หนึ่งในแผนที่เรามีคือจะใช้ต้นโกงกางในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้นเพื่อให้ป่าแต่ละโซนเติบโตให้ทันกัน
“เราเริ่มสื่อสารกันด้วยวิธีใหม่” De La Rosa Pérez อธิบาย “ที่ใช้ศัพท์เฉพาะทางของผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค นักวิทยาศาสตร์ และผู้คนในชุมชน ซึ่งทำให้เราเติบโตและสามารถทำเป้าหมายให้สำเร็จได้ดังที่เห็นทุกวันนี้”
ในเมืองซานเบอร์นาโดเดลเวียนโตซึ่งห่างจากซานอันเตโรไปทางตะวันออก 25 ไมล์ Canchila Avila พนักงานที่ Asoamanglebal ก็เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างชุมชน องค์กรและรัฐบาลในท้องถิ่นเช่นกัน Canchila Avila ประสานงานในการตัดต้นโกงกางเพื่อเปิดทางให้น้ำไหลพร้อมกับมอบใบอนุญาตตัดไม้เพื่อนำไปขายเพื่อการก่อสร้างอีกด้วย “ถึงเราจะใช้ทรัพยากรจากป่าชายเลนแต่เราก็อนุรักษ์มันเช่นกันครับ” Canchila Avila กล่าว "หากเราเห็นว่าบริเวณนี้มีต้นไม้น้อยก็รู้ได้ทันทีว่าต้องฟื้นฟูให้เหมือนเดิม โดยปล่อยให้ต้นไม้โตแล้วก็ปลูกต้นไม้เพิ่ม”
“เรารู้จักพื้นที่นี้และระดับความสูงของตลิ่งแม่น้ำดี เราเลยสามารถตัดต้นไม้ได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิค เพราะเราโตมาก็เห็นวิธีการทั้งหมดแล้ว” Canchila Avila กล่าว “และวันนี้เราจะประยุกต์ใช้ความรู้ทางเทคนิคที่ได้จาก CVS กับประสบการณ์ของเราเอง”
Canchila Avila, De La Rosa Pérez, Díazgranados ทีมนักชีววิทยาทางทะเล และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นกำลังหลักในการอนุรักษ์ป่าชายเลน หากพวกเขาไม่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับป่าชายเลนมาก่อนก็คงไม่สามารถอนุรักษ์ป่าไว้ได้
“พวกเขาเป็นกำลังหลักในการอนุรักษ์ป่า” Díazgranados กล่าว
ผู้คนที่ Cispatá Bay มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับป่าชายเลน ทุกๆ ปีพวกเขาจะฉลอง Festival of the Donkey ในช่วงสัปดาห์อันศักดิ์สิทธิ์เพื่อระลึกถึงความผูกพันนี้ เรื่องราวจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ลได้รับการร้อยเรียงใหม่ผ่านมุมมองของนักเชิดหุ่นกระบอกในท้องถิ่น ชายผู้หนึ่งขี่ลาใส่หน้ากากไปยังจัตุรัสกลางเมืองที่เขาถูกตัดสินประหารชีวิตและต้องอ่านเจตจำนงสุดท้ายของตน เขาประกาศว่า: “ข้าได้ทิ้งต้นโกงกางไว้ให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน”
รูปภาพของ Mangrove Conservation
- 1 Pendleton, L., D.C. Donato, B.C. Murray, S. Crooks, W.A. Jenkins, S. Sifleet, C. Craft, J.W. Fourqurean, J.B. Kauffman, N. Marbà, P. Megonigal, E. Pidgeon, D. Herr, D. Gordon and A. Baldera. “Estimating Global ‘Blue Carbon’ Emissions from Conversion and Degradation of Vegetated Coastal Ecosystems,” 2012.